วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นมา

        "ว่าน"  คำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรและไม้ประดับบางชนิด ว่านหลายชนิดถูกเรียกว่า "ว่าน" จนติดปากและเป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณ จากการสืบค้นพบว่ามีการกล่าวถึงว่านในหนังสือตำรายาไทยชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ รวบรวมโดย พระยาพิศประสาทเวช ในปี พ.ศ. 2452 และ หนังสือชื่อ แพทย์ตำบล เล่ม1 รวบรวมจัดพิมพ์โดย พระยาแพทย์พงศา  วิสุธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ต้นตระกูลสุนทรเวช ในปี พ.ศ.2464 หนังสือทั้งสองเล่มกล่าวถึงว่าน 5 ชนิดเท่านั้นคือ ว่านกีบแรด ว่านนางคำ ว่านหางช้าง ว่านน้ำ ว่านเปราะ

หลังจากปี พ.ศ. 2464 เป็นต้นมา ว่านจึงเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีตำราที่กล่าวถึงลักษณะว่าน ตำราที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับว่าน ใน ปี พ.ศ. 2476 หลวงประพัฒน์สรรพากร รวบรวมหนังสือชื่อ ตำรากระบิลว่าน จนเป็นที่ยอมรับในหมู่นักเล่นว่านและนับว่าเป็นตำราที่ให้ความรู้เรื่องว่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด แม้ราชบัณฑิตสถานยังยอมรับและใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน โดยนิยามไว้ว่า "ว่าน คือพืชที่มีหัวบ้าง ที่ไม่มีหัวบ้าง ใช้เป็นยาบ้าง ใช้อยู่ยงคงกระพันบ้าง" เห็นได้ว่าความหมายตามพจนานุกรม ว่านคือพืชที่มีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ บางชนิดปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกันอันตราย พิษสัตว์กัดต่อย ยาเบื่อเมา ยาสั่ง ยาเสพติด สามารถดับพิษร้ายให้หายได้ ว่านแต่ละชนิดมีคุณานุภาพบันดาลให้เกิดผล เกิดโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น เงินทองไหลมาเทมา มีคนเคารพนับถือ มีความเชื่อกันว่าการปลูกเลี้ยงว่าน ถ้าทำให้ถูกต้องตามพิธีการ ให้ความสำคัญว่าว่านเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ ก็ต้องมีพิธีมากกว่าการปลูกเลี้ยงธรรมดา เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูกเลี้ยงและเป็นการเพิ่มฤทธิ์ธานุภาพให้แก่ว่าน เช่น เวลารดน้ำต้องเสกคาถากำกับเป็นบทเป็นตอนต่างกันไป สามจบ เจ็ดจบหรือตามอายุของผู้ปลูกเลี้ยงแล้วแต่ชนิดของว่าน การขุดก็ต้องทำในวัน เดือน ต่างๆ กัน ทั้งข้างขึ้น ข้างแรม เช่น การขุดเก็บว่านมักเลือกวันอังคาร วันใดวันหนึ่งในเดือนสิบสองหรือไม่เกินวันพุธข้างขึ้นของเดือนอ้าย เวลาขุดใช้มือตบดินใกล้กอว่านหรือต้นว่าน แล้วเสกคาถาเรียกว่านไปตบดินไปจนจบคาถา จึงคอยขุดนำหัวว่านขึ้นมา
        นับจาก พ.ศ.2484 ความนิยมว่านก็ค่อยๆ ห่างหายไป จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 ความนิยมว่านให้ความสำคัญกับว่านกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มีการรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือว่านขึ้นมาอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะหนังสือ ว่านกับคุณลักษณะ รวบรวมโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ จัดพิมพ์จัดจำหน่ายในนามของ สมาคมพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมจากนักเล่นว่านมาก

ปัจจุบันผู้ที่ให้ความสนใจว่านไม่เพียงชื่นชอบเหมือนผู้เลี้ยงว่านในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ยังให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านอื่นๆ หลายรูปแบบ รวมทั้งการสนใจว่านในเชิงพฤกษาศาสตร์ ซึ่งมีการจัดแบ่งว่านได้ถึง 34 วงศ์ (Family) 512 สกุล (Genus) และ กว่า 1700 พันธุ์ (Species) มีทั้งว่านที่ให้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรรักษาโรค ว่านที่มีชื่อเป็นมงคลนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งมีความเชื่อว่าว่านเหล่านี้เมื่อปลูกเลี้ยงแล้วจะส่งผลให้ทำมาค้าขึ้น นำโชคลาภวาสนา มาสู่ผู้ปลูกเลี้ยง 
      "ว่าน" เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรษไทย  และได้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน  ซึ่ง  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542  ได้ให้นิยามความหมายของ  "ว่าน คือ ชื่อเรียกพืชบางชนิดที่มีหัวบ้าง  ไม่มีหัวบ้าง  ใช้ทำยาบ้าง  หรือเชื่อว่าทำให้อยู่ยงคงกระพันและเป็นศิริมงคง เช่น ว่านนางล้อม  ว่านเสน่ห์จันทร์แดง"
       ความเชื่อในเรื่องว่านของกลุ่มชาวไทยคาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการ เลี้ยงว่านตามวัฒนธรรมมอญและขอมแต่โบราณ  ซึ่งในตำราพิชัยสงครามของไทยช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกเล่มระบุไว้ว่า ว่านคือสุดยอดคงกระพัน  ดั้งนั้นนักรบโบราณจึงนิยมการอาบน้ำว่าน  และการเคี้ยวว่าน แม้แต่ในปัจจุบัน  ยังมีบางแห่งได้มีพิธีการอาบน้ำว่าน  ความเชื่อเกี่ยวกับฤทธิ์ของว่านต่างๆ มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าเวทมนต์คาถา  เช่น ว่านที่มีฤทธิ์ในทางคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้า  ว่านที่ให้โชคลาภ  ว่านที่ทำให้เกิดเมตตามหานิยม  ว่านที่ใช้คุ้มครองรักษาจากสิ่งชั่วร้าย  ว่านที่ใช้รัษาโรค  เป็นต้น 
          
       ในอดีตผู้ทรงวิทยาทางคาถาอาคมจะปลูกเลี้ยงว่านไว้อย่างน้อย 108  ชนิด เพื่อรวมกับผงวิเศษต่างๆ เพื่อใช้ในการทำเครื่องรางของขลัง  โดยผ่านพิธีปลุกเสกจากพระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม  เพื่อให้เกิดอิทฤทธิ์ต่างๆ  เช่นในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ได้กล่าวถึงอิทฤทธิ์ของว่านไว้าว่า

          "ขุนแผนเรียกวันทองเข้าห้องใน
ไม่ไว้ใจจึงเสกด้วยเวทมนตร์
สีขี้ผึ้งสีปากกินหมากเวทย์
ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน
น้ำมันพรายน้ำมันจันทร์สรรเสกปน
เคยคุ้มขลังบังตนแต่ไรมา
แล้วทำผงอิทธิเจเข้าเจิมพักตร์
คนเห็นคนทักรักทุกหน้า
เสกกระแจะจวงจันทร์น้ำมันทา
เสร็จแล้วก็พาวันทองไปฯ"
  
นี้เป็นเพียงบางส่วนเรื่องราวของว่านที่มีมาแต่โบราณกาล  ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้สนใจน้อยมาก  เพราะอาจมาจากขาดการเชื่อถือและไม่มีผู้รู้สามารถชี้ชัดได้ว่าว่านชนิดใดมี ลักษณะรูปร่างเป็นอย่างไร  มีสรรพคุณ  หรือมีความเชื่ออย่างไร  อีกทั้งยังขาดพันธุ์ว่านและหนังสืออ้างอิง 
ดังนั้นท่านที่มีความสนใจเรื่องว่าน  ควรใช้วิจารณญาณในการศึกษาเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงและถูกต้อง  อย่างน้อยๆ  ของเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณกาลก็จะได้ไม่สูญหายไป


สมุนไพร ไทยนี้ มีค่ามาก
พระเจ้าอยู่หัว ทรงฝาก ให้รักษา
แต่ปู่ย่า ตายาย ใช้กันมา
ควรลูกหลาน รู้รักษา ใช้สืบไป
เป็นเอกลักษณ์ ของชาติ ควรศึกษา
วิจัยยา ประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมัย
รู้ประโยชน์ รู้คุณโทษ สมุนไพร
เพื่อคนไทย อยู่รอด ตลอดกาล” 
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สมุนไพร  เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานานนับพันๆปี  มนุษย์ได้มีวิวัฒนาการการ
รักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองและได้รู้จักสมุนไพรที่จะนำมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือโรคต่างๆ  โดยได้สั่งสมความรู้  ประสบการณ์แล้วสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บ้างก็มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  จนเกิดเป็นภูมิปัญญาโบราณขึ้น   แต่เมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคมากขึ้น  การรักษาโรคสมัยใหม่เห็นผลทันใจ  ทำให้ภูมิปัญญาสมุนไพรที่สั่งสมมานานค่อยๆ ลบเลือนหายไป  คนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าพืชชนิดไหน  มีสรรพคุณอย่างไร  จะใช้อย่างไร  จะรู้บ้างก็เพียงแค่ไม่กี่ชนิดที่ได้เห็น  ได้ยิน  ได้ฟังจากการบอกต่อและจากสื่อต่างๆ  เท่านั้น  ทางภาครัฐก็ไม่มีการสนับสนุนและวิจัยเกี่ยวกับพืชสมุนไพรอย่างจริงจัง  มีพืชสมุนไพรของไทยหลายชนิดที่ต่างประเทศนำไปวิจัยแล้วจดสิทธิบัตร

          จนเมื่อ  พ.ศ.  2535  รัฐเริ่มกลับมาเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทยอีกครั้งและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ว่า  " ให้มีการผสมผสานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขของชุมชนอย่างเหมาะสม"  นั้นจึงเป็นหนทางที่จะทำให้สมุนไพรกลับมามีบทบาทในการรักษาโรคมากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบัน

หลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายให้มีการผสมผสานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้าไปในการรักษาแล้ว  การใช้สมุนไพรในการรักษาก็มีมากขึ้น  หลายโรงพยาบาลได้มีการสั่งจ่ายยาแผนปัจจุบันร่วมกับสมุนไพรให้กับผู้ป่วยด้วย  หลายหน่วยงานได้จัดตั้งกลุ่มทำสมุนไพร  และมีการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรอย่างแพร่หลาย

ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่เห็นความสำคัญของสมุนไพรที่มีมาแต่บรรพกาล  จึงสร้างบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนไม่มากก็น้อย